ข่าวเกี่ยวกับการศึกษา

ข่าว

วันศุกร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2553

การจัดลำดับอาวุโสในราชการ

สำนักงาน ก.พ. 2529 ที่ นร0605/1184 ได้พิจารณาจัดลำดับอาวุโสในราชการของข้าราชการได้ตามลำดับ ดังนี้
1. ผู้ใดดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงกว่า ถือว่าผู้นั้นอาวุโสกว่า
2. ผู้ที่ดำรงตำแหน่งในระดับเดียวกัน ผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับนั้นก่อน ถือว่าผู้นั้นอาวุโสกว่า
3. ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับเดียวกันพร้อมกัน ผู้ใดได้รับเงินเดือนมากกว่าถือว่าผู้นั้นอาวุโสกว่า
4. ผู้ได้รับเงินเดือนเท่ากัน ผู้ใดมีอายุราชการมากกว่าถือว่าผู้นั้นอาวุโสกว่า
5. ผู้มีอายุราชการเท่ากัน ผู้ใดได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในชั้นสูงกว่าถือว่าผู้นั้นอาวุโสกว่า
6. ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในชั้นเดียวกัน ผู้ใดได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นนั้นก่อนให้ถือว่าผู้นั้นอาวุโสกว่า
7. ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในชั้นเดียวกันพร้อมกัน ผู้ใดมีอายุแก่กว่าให้ถือว่าผู้นั้นอาวุโสกว่า

วันอังคารที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2553

บทคัดย่องานวิจัย ความพึงพอใจของครูต่อการบริหารงานวิชาการของโรงเรียนใน อำเภอโคกเจริญ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาลพบุรี เขต 2

เนื่องจากช่วงนี้งานผมเยอะ  ไม่ว่าจะเป็นอบรม  ประชุม สัมมนา จึงไม่ค่อยได้มาอัปข้อมูลใน blog ให้มีความเคลื่อนไหว  และในวันนี้ผมจะำนำบทคัดย่องานวิจัยที่เรียนปริญญาโท  สาขาการบริหารการศึกษา  มหาวิทยาลัยรามคำแหง   มานำเสนอดังนี้ครับ



บทคัดย่อ
ชื่อเรื่องวิจัย    ความพึงพอใจของครูต่อการบริหารงานวิชาการของโรงเรียน
                   ในอำเภอโคกเจริญ  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาลพบุรี เขต 2 
ชื่อผู้เขียน      นายศิริพงษ์   กลั่นไพฑูรย์                                        
ชื่อปริญญา     ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต                                       
สาขาวิชา        การบริหารการศึกษา        
ปีการศึกษา     2552                                      
อาจารย์ที่ปรึกษา  รองศาสตราจารย์วนิดา   ภูวนารถนุรักษ์

            การวิจัยครั้งนี้วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบความพึงพอใจของครูต่อการบริหารงานวิชาการของโรงเรียนในอำเภอโคกเจริญ  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาลพบุรี  เขต 2                                                                         

            กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย  คือ  ครูที่ทำหน้าที่การสอนในโรงเรียน อำเภอโคกเจริญ  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาลพบุรี  เขต 2   จำนวน  100  คน   เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้เป็นแบบสอบถาม  ซึ่งผ่านการทดสอบหาค่าสัมประสิทธิ์ความเชื่อมั่นได้ค่าความเชื่อมั่น  0.94   นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์  โดยข้อมูลสถานภาพบุคคลนำมาหาค่าร้อยละ  ข้อมูลเปรียบเทียบความพึงพอใจนำมาหาค่าเฉลี่ย  และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  ข้อมูลเปรียบเทียบความพึงพอใจ  จำแนกตามสถานภาพทดสอบค่าที (t - test)และใช้การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One Way Analysis  of  Variance)

ผลการวิเคราะห์ข้อมูล   สรุปได้ดังนี้                           
1. ความพึงพอใจของครูต่อการบริหารงานวิชาการของโรงเรียนในอำเภอโคกเจริญ  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาลพบุรี  เขต 2  โดยภาพรวมพบว่า  มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก  และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า  มีความพึงพอใจอยู่ในระดับปานกลาง  คือด้านสื่อและวัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอน   นอกนั้นนอกนั้นมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก    โดยด้านหลักสูตรและการนำหลักสูตรไปใช้  มีค่าคะแนนเฉลี่ยมากที่สุด  รองลงมาคือ  ด้านการเรียนการสอน  ด้านการพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา  ด้านการวัดและประเมินผล  ด้านแหล่งเรียนรู้   ด้านการแนะแนว ด้านการนิเทศการศึกษา   ตามลำดับ                                 
2. ครูที่มีเพศต่างกันมีความคิดเห็นต่อการบริหารงานวิชาการของโรงเรียนในอำเภอโคกเจริญ   สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาลพบุรี  เขต 2  โดยภาพรวมพบว่าไม่แตกต่างกัน  ซึ่งไม่เป็นไปตามสมมติฐานข้อที่ และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้านก็ไม่พบความแตกต่างกันในทุกด้าน      
3. ครูที่มีประสบการณ์การสอนต่างกันมีความคิดเห็นต่อการบริหารงานวิชาการของโรงเรียนในอำเภอโคกเจริญ   สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาลพบุรี  เขต 2  โดยภาพรวมพบว่าไม่แตกต่างกัน  ซึ่งไม่เป็นไปตามสมมติฐานข้อที่ 2 และเมื่อพิจารณารายด้านพบว่าด้านการแนะแนว  มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ  0.05   นอกนั้นไม่พบความแตกต่าง

วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

การทำงานของข้าราชการยุคใหม่ ( I AM READY )

วันนี้ ผมขอพูดถึงการทำงานของข้าราชการยุคใหม่  ซึ่งตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)  ได้กำหนดให้มียุทธศาสตร์ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์  วัฒนธรรมและค่านิยม   โดยที่ ก.พ.ร.ได้ให้รายละเอียด  ได้แก่
ค่านิยมที่ 1.   มีศักดิ์ศรี  (Integrity)  หมายถึง  การยืนหยัดทำสิ่งที่ถูกต้อง  สุจริตและเที่ยงธรรมตาม หลักกฎหมาย คุณธรรม  และวิชาชีพ  เช่น
-  การยึดถือกฎระเบียบเป็นหลักในการปฏิบัติงาน
-  การปฏิเสธผลประโยชน์ที่มีผู้เสนอให้ แลกเปลี่ยนกับการได้รับความสะดวกใน
   การบริการ
-  แสดงความเห็นคัดค้านนโยบายที่ขัดต่อหลักวิชาการ
ค่านิยมที่ 2.   ทำงานเชิงรุก (Activeness)  หมายถึง ปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อให้บริการที่ดีและแก้ไขความเดือดร้อนขององค์กร  เช่น
-  ทำงานให้ตรงตามกำหนดการแม้ติดภารกิจจำเป็นส่วนตัว
-  เมื่อมีผู้ที่มารับบริการประสบปัญหาความไม่สะดวก จะพยายามหาทางแก้ไขให้
-  จัดทำหรือปรับปรุงคู่มือการรับบริการเป็นแบบแผนของหน่วยงาน
-  จัดงบประมาณเฉพาะสำหรับการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่
ค่านิยมที่ 3.   มีคุณธรรม  (Morality)  หมายถึง  ปฏิบัติราชการด้วยใจบริสุทธิ์และกุศลเจตนาไม่เลือกปฏิบัติ คำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะ   เช่น
-  ยืนหยัดที่จะทำอย่างถูกต้อง แม้เพื่อนร่วมงานทำผิดระเบียบและชักชวนให้ทำตาม
-  พิจารณาตัดสินผลงานผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างยุติธรรม
-  มีการสร้างระบบประเมินผลที่มีมาตรฐาน
-  ยกย่องข้าราชการดีเด่นอย่างต่อเนื่อง
-  มีระบบปกป้องการกลั่นแกล้งหรือร้องเรียนที่ไม่เป็นธรรม
ค่านิยมที่ 4.   เรียนรู้ทันโลก  (Relevancy)  หมายถึง  มีการปรับตัวทันโลก ทันเหตุการณ์ และพัฒนาราชการให้เป็นเลิศในการให้บริการ    เช่น
-  นำความรู้และวิทยาการสมัยใหม่มาช่วยในการปฏิบัติงาน
-  มีการพัฒนาระบบสารสนเทศที่จำเป็นต่อการบริหาร
-  ปรับปรุงคุณภาพข้อมูลภายในหน่วยงาน
-  การสร้างการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน
-  มีระบบหมุนเวียนบุคลากร
-  แสวงหาแนวทางใหม่ ๆ มาปรับปรุงการปฏิบัติงาน
ค่านิยมที่ 5.   มีประสิทธิภาพ  (Efficiency)  หมายถึง มีผลผลิตได้มาตรฐาน ประหยัดทรัพยากร เช่น   
-  กำหนดหลักการในการทำงาน สำหรับการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ปรับขั้นตอนการทำงานให้สั้นลง เพื่อให้งานสำเร็จดีขึ้น
-  มีเป้าหมายในการใช้จ่ายงบประมาณอย่างประหยัด
-  มีเป้าหมายด้านผลผลิตทุกงาน / โครงการ
ค่านิยมที่ 6.   ความรับผิดชอบ  (Accountability)  หมายถึง  การปฏิบัติหน้าที่ความสำนึกรับผิดชอบต่อผู้รับบริการ  พร้อมรับการตรวจสอบ    เช่น
-  การเร่งแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียน 
-  การมีข้อตกลงในการปฏิบัติงานตามโครงการ ตรงเวลานัดหมายกับผู้รับบริการ
-  มีการสร้างกลไกหรือช่องทางให้ประชาชน
-  สามารถตรวจสอบการปฏิบัติงาน
ค่านิยมที่ 7.   การมีส่วนร่วม  (Democracy)  หมายถึง  ให้บริการด้วยความเสมอภาค เป็นธรรมสร้างเครือข่ายในการทำงาน เปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมตามหลักประชาธิปไตย เช่น
-  นำเรื่องร้องเรียนหรือข้อคิดเห็น มาพิจารณาเพื่อปรับปรุงแก้ไข
-  รับฟังพิจารณาข้อคิดเห็นของผู้คัดค้าน
-  โครงการให้ประชาชนประเมินการทำงาน
ค่านิยมที่ 8.   มุ่งผลสัมฤทธิ์  (Yield)  หมายถึง  การมีผลงานที่ชัดเจนตามจุดมุ่งหมาย  เช่น
-  มีการตั้งเป้าหมายของผลงาน
-  มีการวัดและประเมินผลงานอย่างเปิดเผย
-  มีการตั้งเป้าหมายในการปฏิบัติงานทุกระดับ
-  วางแผนการทำงานอย่างละเอียด  เพื่อป้องกันความผิดพลาด
                            
ซึ่งค่านิยมทั้ง 8  เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า  I  AM  READY  นั่นเองครับ





  

วันอาทิตย์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ปัจจัย เสริมสร้างความเป็นนักบริหารมืออาชีพ

ปัจจัยเสริมที่จะเป็นตัวชี้วัด (Indicators) สำคัญของการเป็นผู้บริหารการศึกษามืออาชีพ ได้อย่างสง่างาม เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายต่อการปฏิบัติภารกิจตามบทบาท หน้าที่เชิงบริหารจัดการศึกษา ในสถานศึกษา ปัจจัยบ่งบอกความสำคัญเหล่านี้ ได้แก่
1. คุณวุฒิด้านการศึกษา เป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญจะต้องมี กล่าวคือ ต้องมีคุณวุฒิด้านการศึกษา ตรงตามคุณสมบัติ ที่กำหนดในกฎหมายวิชาชีพ โดยเฉพาะในยุคปฏิรูปการศึกษาที่ต้องการมืออาชีพทางการบริหาร บุคคลเหล่านี้ต้องมีคุณวุฒิระดับปริญญาตรี โท เอก ด้านการศึกษาเป็นสำคัญ
2. ประสบการณ์การปฏิบัติงาน ต้องมีประสบการณ์สั่งสมในการปฏิบัติงานที่ผ่านมา โดยเฉพาะ ประสบการณ ์ด้านการบริหารทางการศึกษาในองค์กรทางการศึกษาระดับต่างๆ ในตำแหน่งทาง การบริหารการศึกษา ที่ได้ดำเนินบทบาทภารกิจตามสายงานที่กำหนดไว้
3. ประสบการณ์การฝึกอบรม ศึกษา ดูงาน ผู้บริหารการศึกษามืออาชีพต้องได้รับการเพิ่มพูน ประสบการณ์ ทางวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง ทั้งในด้านการฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ การศึกษาดูงานจากแหล่งวิทยาการความรู้ สามารถนำประสบการณ์ที่ได้รับมาพัฒนาองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. การสร้างผลงานทางวิชาการ เป็นองค์ประกอบของการสร้างนักบริหารการศึกษาก้าวสู่มืออาชีพ โดยมีผลงานทางวิชาการเป็นเครื่องมือยืนยันถึงศักยภาพดังกล่าว ผลงานสามารถจัดกระทำได้หลายรูปแบบ ทั้งด้านการวิเคราะห์งานวิจัย การเขียนและเรียบเรียงเอกสารทางวิชาการ การเขียนบทความ ตำรา ฯลฯ ออกเผยแพร่แก่หน่วยงานอื่นๆ ให้แพร่หลายทั่วถึง รวมทั้งการเป็นวิทยากรเผยแพร่ความรู้ นวัตกรรมต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5. ผลงานดีเด่นที่สั่งสมไว้ผลสำเร็จจากการปฏิบัติงานของผู้บริหารการศึกษามือ อาชีพ อาจดูจากหลักฐาน ที่เป็นผลงานที่สั่งสมไว้ จนเป็นที่ประจักษ์แก่ชุมชน สังคม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
6. ลักษณะเฉพาะของเอกัตบุคคล เป็นลักษณะเฉพาะตัว (Character) ที่นักบริหารการศึกษามืออาชีพ ควรเสริมสร้างให้บังเกิดขึ้น ได้แก่
1. มีบุคลิกที่ดี สง่างาม น่านับถือ
2. มีความขยันหมั่นเพียร สัมมาอาชีพ
3. มีความรับผิดชอบสูงทั้งต่อตนเอง ครอบครัว หน่วยงาน
4. มีความซื่อสัตย์ สุจริต
5. ตรงต่อเวลา บริหารเวลาได้ดี
6. กระตือรือร้นในการทำงาน
7. ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์
8. รักษาระเบียบวินัยได้ดี เป็นแบบอย่างที่ดี

วันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ทำอย่างไรจึงจะได้เป็นผู้บริหารมืออาชีพ

การจะทำให้ได้เป็นผู้บริหารมืออาชีพได้นั้น ผู้บริหารควรจะ
1. ศึกษาหาความรู้ทั้งวิชาการบริหารและวิชาการด้านอื่นอยู่เป็นประจำ
2. ฝึกฝนและฝึกปฏิบัติงานกับสถานประกอบการ เพื่อหาประสบการณ์
3. ศึกษาดูงานแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ
4. ยึดหลักบริหารงานทั้งศาสตร์และศิลป์ที่เป็นความรู้และทักษะปฏิบัติงาน
5. มีคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณมารยาทที่ดี เป็นแบบอย่างที่ดีและปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมาย
6. มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีต่อเพื่อนร่วมงาน และบุคคลอื่น
7. เสียสละเพื่อส่วนรวม และมุ่งประโยชน์แก่ส่วนรวม
8. ยึดหลักธรรมาภิบาล และน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับครองตน ครองคน และครองงาน
9. จัดการความรู้ (Knowledge Management) เป็นระบบทั้งองค์กร
10. ปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณวิชาชีพที่องค์กรวิชาชีพกำหนด